เปิด 7 เช็กลิสต์ตรวจบ้าน-คอนโดหลังแผ่นดินไหวอย่างไรให้ปลอดภัย รอยร้าวแบบไหนอันตราย? พร้อมแนวทางการจัดการเมื่อพบความเสียหายของที่อยู่อาศัย
อัพเดตล่าสุด 09 May 2025
|
Main Point
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างอาคาร เพื่อประเมินว่าบ้านของเรายังคงปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ dooDeco จะพาไปดูกันว่ารอยร้าวแบบไหนอันตรายและไม่อันตราย พร้อมเปิด 7 เช็กลิสต์ตรวจบ้าน-คอนโดหลังแผ่นดินไหวเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว
ภาพ: รอยร้าวเส้นผม (Hairline Cracks)
รอยร้าวเส้นผม (Hairline Cracks) เป็นรอยร้าวขนาดเล็ก มีระดับความอันตรายต่ำ มีลักษณะเป็นเส้นบาง ความกว้างไม่เกินขนาดของเส้นผมหรือบัตรเครดิต เกิดจากการที่อาคารเคลื่อนตัวเพียงเล็กน้อย หรือการยืด-หดตัวของวัสดุ ซึ่งไม่กระทบกับโครงสร้างโดยรวม ทั้งนี้ควรติดตามการขยายตัวของรอยร้าว เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยต่อไป
ภาพ: รอยร้าวแนวตั้ง (Vertical Cracks)
รอยร้าวแนวตั้ง (Vertical Cracks) เป็นรอยร้าวที่พาดลงในแนวดิ่ง มีระดับความอันตรายต่ำ-ปานกลาง สามารถพบเห็นรอยร้าวแนวตั้งได้ตามผนัง กำแพง มีขนาดตั้งแต่บางไปจนถึงหนา ซึ่งหากมีความกว้างเกิน 5 มิลลิเมตร อาจเกิดความเสียหายถึงชั้นโครงสร้าง จึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบและดำเนินการซ่อมแซม
ภาพ: รอยร้าวแนวนอน (Horizontal Cracks)
รอยร้าวแนวนอน (Horizontal Cracks) เป็นรอยร้าวที่พาดจากซ้ายไปขวาในแนวระนาบ มีระดับความอันตรายสูง เนื่องจากรอยร้าวแนวนอนมักเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาของโครงสร้างที่ร้ายแรง อาจเกิดการเคลื่อนตัวจากฐานและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอาคาร ควรเร่งให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบโดยทันที
ภาพ: รอยร้าวแนวเฉียง (Diagonal Cracks)
รอยร้าวแนวเฉียง (Diagonal Cracks) เป็นรอยร้าวที่ทำมุมเฉียงประมาณ 30-70 องศา มีระดับความอันตรายสูงที่สุด เนื่องจากรอยร้าวแนวเฉียงมักสะท้อนถึงการทรุดตัวและการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร ซึ่งอาจนำไปสู่ความอันตรายรุนแรงกว่ารอยร้าวทุกประเภท เช่น อาคารพังทลาย ควรให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย
ภาพ: รอยร้าวของผนังบ้าน
ผนัง เป็นส่วนที่มักแสดงความเสียหายให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดหลังเกิดแผ่นดินไหว เพราะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านหรือคอนโด ซึ่งอาจเกิดเป็นรอยร้าวในรูปแบบต่าง ๆ
ภาพ: ความเสียหายของเสาบ้าน
เสาและคาน ถือเป็นองค์ประกอบหลักในการรับน้ำหนักอาคาร ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนนี้จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของโครงสร้างเป็นอย่างมาก
ภาพ: ความเสียหายของฝ้าเพดาน
พื้นและฝ้าเพดาน เป็นโครงสร้างแนวราบที่อาจเกิดความผิดปกติหลังแผ่นดินไหว เช่น พื้นเคลื่อนตัว ไม่เรียบ เอียง หรือยุบตัว ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของโครงสร้างรับน้ำหนัก และอาจนำไปสู่การพังทลาย
ภาพ: กระจกหน้าต่างแตกร้าว
การแยกตัวของประตูและหน้าต่าง หรือความเสียหายที่ผิดปกติไปจากเดิม อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าโครงสร้างของบ้านมีการเปลี่ยนแปลง
ภาพ: รอยแตกร้าวที่บันได
โครงสร้างบันไดที่ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำหนักและเชื่อมต่อระหว่างชั้นต่าง ๆ ของอาคาร บ้าน หรือคอนโด จึงมีความซับซ้อนและอาจเกิดความเสียหายหลังเหตุแผ่นดินไหวได้
ภาพ: เฟอร์นิเจอร์ล้มหลังเกิดแผ่นดินไหว
แม้เฟอร์นิเจอร์จะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคาร แต่ความเสียหายหรือการเคลื่อนที่ของสิ่งของอาจเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งกับผนังหรือเพดาน
ภาพ: การตรวจสอบระบบไฟฟ้า
ระบบสาธารณูปโภคภายในบ้านหรือคอนโด อาจได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวโดยที่ไม่แสดงร่องรอยให้เห็นชัดเจน แต่อาจนำไปสู่อันตรายร้ายแรงอย่างไฟฟ้าลัดวงจร หรือความเสียหายต่อระบบไฟฟ้า-ประปาในระยะยาวได้
ภาพ: การตรวจสอบที่อยู่อาศัยหลังแผ่นดินไหว
เมื่อตรวจพบความเสียหายจากแผ่นดินไหว ในที่พักอาศัยอย่างโครงการบ้านหรือคอนโดมิเนียม ควรแจ้งให้นิติบุคคลทราบเป็นอันดับแรก เนื่องจากนิติบุคคลมีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย บำรุงรักษาส่วนกลางและโครงสร้างอาคารของลูกบ้าน
โดยเจ้าของบ้านควรถ่ายภาพความเสียหายทั้งหมด พร้อมจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งที่พบความเสียหาย ขนาดของรอยร้าว ช่วงเวลาที่สังเกตเห็น เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้นิติบุคคลดำเนินการประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างเหมาะสม
กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ดูแลความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน ในกรณีพบความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย สามารถติดต่อเบอร์โทรของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ที่ 02-299-4191, 02-299-4312 หรือเว็บไซต์ dpt.go.th เพื่อขอตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
โดยการประเมินความเสียหายเบื้องต้น มักปฏิบัติตามแบบสำรวจของกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งแบ่งระดับความเสียหายของอาคารออกเป็น 3 ระดับ
1. ระดับสีเขียว โครงสร้างอาคารอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ตามปกติ อาจมีความเสียหายเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีความเสียหายเลย
2. ระดับสีเหลือง โครงสร้างอาคารอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ มีความเสียหายปานกลาง ยังคงต้องเฝ้าระวังอันตรายจากโครงสร้างและส่วนประกอบของอาคาร
3. ระดับสีแดง โครงสร้างอาคารอยู่ในระดับที่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากเกิดความเสียหายขั้นรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิต
สำหรับบ้านหรืออาคารที่ผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่ามีระดับความเสียหายรุนแรง สามารถติดต่อขอตรวจสอบขั้นสูงอย่างละเอียดเพิ่มเติม โดยวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ โดยควรเลือกบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และอยู่อาศัยได้อย่างอุ่นใจ